ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
- รายละเอียด
- หมวด: บทความ
- เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์, 06 กันยายน 2556 13:59
- เขียนโดย manop
- ฮิต: 55341
ประเพณีการเทศน์มหาชาติ
ประเพณีการเทศน์มหาชาติจัดเป็นการทำบุญที่สำคัญและมีความหมายมากที่สุดในสังคมไทยเนื่องจากเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่ทำสืบเนื่องมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันเพราะความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วจะได้กุศลแรงและหากใครตั้งใจฟังให้จบในวันเดียวจะได้เกิดร่วมและพบพระศรีอริยเมตตรัยโพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงโปรดฯให้ประชุมสงฆ์นักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลและแต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ.๒๐๒๕สำหรับสวดในพระราชพิธีเข้าพรรษาและสวดให้อุบาสกอุบาสิกาฟังระหว่างพรรษา
เรื่องราวของมหาชาติชาดกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพุทธศาสนิกชนเพราะถือว่าเป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีครบ๑๐ ประการ ก่อนจะทรงตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณด้วยทานบารมีชั้นสุดยอดที่ยากยิ่งจึงเรียกว่า มหาชาติ
ความนิยมและความสำคัญของเรื่องมหาชาติชาดกปรากฏให้เห็นได้จากวรรณกรรมที่แต่งขึ้นมากมาย ทั้งต่างสำนวนและต่างยุคสมัยเฉพาะที่เป็นฉบับหลวงก็มีมากมายในลักษณะของรูปแบบคำประพันธ์ต่างๆนอกจากนี้ยังมีมหาชาติฉบับท้องถิ่นต่างๆ อีก เช่นทางภาคเหนือมีมหาชาติภาคพายัพเขียนเป็นภาษาล้านนามีหลายฉบับและหลาย สำนวนทางภาคอีสานมีมหาชาติคำเฉียงส่วนทางภาคใต้มีมหาชาติชาดกฉบับวัดมัชฌิมาวาสสงขลาเป็นต้นและยังมีมหาชาติสำนวนต่างๆอีกมากมายที่แต่งกันเองโดยอิสระกระจายอยู่ตามหัวเมืองต่างๆประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติจึงปรากฏในสังคมไทยทุกภูมิภาคทั้งในราชสำนักและในหมู่ประชาชนทั่วไป
ในราชสำนักปรากฏเป็นพระราชพิธีในวังหลวงมาแต่สมัยสุโขทัยแล้วในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์ถึงกับทรงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งทรงธรรมด้วยพระราชประสงค์ให้เป็นที่ทรงธรรมในงานพระราชพิธีเทศน์มหาชาติพระราชพิธีนี้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนาคราวหนึ่งแม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยครั้งที่ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศก็ทรงหัดเทศน์กัณฑ์มัทรีจนกลายเป็นธรรมเนียมให้พระราชโอรสถวายเทศน์มหาชาติในวังหลวง
ในท้องถิ่นโดยเฉพาะในเขตภาคอีสานถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่สำคัญที่สุดของปีจะจัดขึ้นในราวเดือน ๔ เรียกว่า บุญพระเวสทั้งยังมีประเพณีเกี่ยวเนื่องกับเทศกาลนี้ด้วย เช่นพิธีแห่พระเวสเข้าเมืองและพิธีแห่ข้าวพันก้อนเพื่อบูชาคาถาพันทางภาคเหนือก็ให้ความสำคัญกับการเทศน์มหาชาติมากเห็นได้จากมีประเพณีสร้างหลาบเงินหรือแผ่นเงินแกะลาย แขวนห้อยรอบฉัตรถวายเป็นเครื่องขันธ์ตั้งธรรมหลวงในงานบุญเทศน์มหาชาติแผ่นเงินเหล่านี้จะจำหลักเป็นรูป ลวดลายต่างๆส่วนทางภาคใต้นั้นประเพณีเทศน์มหาชาติได้คลี่คลายไปเป็นประเพณีสวดด้านซึ่งคล้ายคลึงกับการสวดโอ้เอ้วิหารรายอย่างกรุงเทพฯ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
จะเห็นว่าประเพณีเทศน์มหาชาติที่เป็นประเพณีหลวงได้ส่งผลกระทบต่อประเพณีราษฎร์อย่างกว้างขวางแต่ท้องถิ่นได้พัฒนารูปแบบการเทศน์และประเพณีต่างๆ ให้แตกต่างไปเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมเนียมท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาคในภาคกลางจะคงลักษณะสำคัญของประเพณีหลวงไว้มาก เช่นในการเทศน์มักจะมีปี่พาทย์ประโคมขณะดำเนินพิธีตามแบบของหลวงด้วยเชื่อว่าเป็นการเสริมศรัทธาให้เกิดความปีติในผลบุญที่ได้บำเพ็ญกับทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้ที่ได้ยินเสียงปี่พาทย์ได้ทราบว่ากำลังมีพิธีเทศน์มหาชาติอยู่ ผู้ใดรับกัณฑ์เทศน์ใดไว้จะได้ตระเตรียมตัวได้ทันปี่พาทย์ในงานเทศน์มหาชาติจะเริ่มด้วยเพลงโหมโรงและกำหนดเพลงปี่พาทย์ประจำกัณฑ์ไว้ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ตามแบบหลวงที่มีความศักดิ์สิทธิ์และถือเป็นเพลงชั้นสูงทั้งสิ้น เช่น กัณฑ์ทศพร ใช้เพลงสาธุการ กัณฑ์หิมพานต์ใช้เพลงตวงพระธาตุเป็นต้น
การเทศน์มหาชาติในส่วนที่เป็นประเพณีราษฎร์นอกจากจะรักษาขนบแบบราชสำนักที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังแฝงด้วยความสนุกสนานและการละเล่นแทรกอยู่ด้วย เช่นพระที่เทศน์มหาชาติกัณฑ์ต่างๆ อาจว่าแหล่เพื่อให้ผู้ฟังได้รสยิ่งขึ้นแหล่ต่างๆ ที่มีประจำกัณฑ์ที่เรียกว่าแหล่นอกนี้จะแต่งเป็นพิเศษนอกเนื้อเรื่องพระเวสสันดรก็ได้หรือชาวบ้านในบางท้องที่แถบภาคกลางจะมีการเล่นมหาชาติทรงเครื่องเวลามีพิธีเทศน์มหาชาติ ซึ่งชาวบ้านจะรับมาจากวัดและไปเล่นกันเองต่อมาชาวบ้านกลับไปชวนพระมาเล่นด้วยกันจึงเป็นการเล่นระหว่างแม่เพลงที่มีเสียงดีที่มักรับบทเป็นพระนางผุสดี หรือพระ-นางมัทรี กับพระที่มักจะรับบทพระเวสสันดรและชูชก เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าคติธรรมต่อการดำเนินชีวิตตามหลักพุทธศาสนาโดยเฉพาะคติของการทำบุญให้ทานการกลับชาติมาเกิดของพระโพธิสัตว์คือพระเวสสันดรความเชื่อเรื่องบุญ-กรรมอยู่ในสำนึกของชาวไทยทั้งสังคม ด้วยอิทธิพลของมหา ชาติชาดกที่มีบทบาทอย่างสูงในการสร้างบูรณาการทางศาสนาให้เกิดขึ้นต่อชาวไทยทุกภูมิภาคมาเป็นเวลาช้านานแล้วพระสงฆ์เป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งต่อกระบวนการเชื่อมต่อประเพณีหลวงสู่ประเพณีราษฎร์ทำให้เกิดความกลมกลืนในทางวัฒนธรรมที่มีพระพุทธศาสนาเป็นสัญลักษณ์แห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันท่ามกลางคติความเชื่อในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน
ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ที่เห็นจากประเพณีการเทศน์มหาชาติแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการพยายามเผยแพร่ประเพณีหลวงสู่ท้องถิ่นโดยตรงอิทธิพลของประเพณีหลวงที่ส่งต่อประเพณีราษฎร์กระทำโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมที่มีวัดเป็นศูนย์กลางในการให้การศึกษาและอบรมสั่งสอนสอดแทรกค่านิยมจากราชสำนักที่เน้นแบบแผนที่เป็นระเบียบให้คล้ายคลึงกันแต่ความโน้มเอียงของประเพณีราษฎร์ที่จะเลียนแบบประเพณีหลวงตามธรรมชาติของการยกย่องแบบแผนจากราชสำนักเป็นพื้นเดิมของสังคมชาวนาอยู่แล้วทำให้ประเพณีหลวงบางอย่างกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการเอาอย่างโดยที่ราชสำนักเองไม่ได้มีเจตนาหรือต้องการจะมีอิทธิพลแต่ประการใดดังจะยกประเพณีการเผาศพมาเป็นกรณีตัวอย่างให้เห็นพอสังเขป
การเทศน์มหาชาติ เป็นที่นิยมของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทุกภาคของประเทศ
ซึ่งถือปฎิบัติสืบด่อกันมาเป็นเวลาช้านานจนเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของสังคม ชาวพุทธไทย โดยมีความเชื่อว่า การฟังเทศน์มหาชาติทำให้ผู้ฟังได้บุญมาก และในขณะที่ฟังก็ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วย ถ้ายิ่งพระเทศน์เสียงดี ๆ ก็ยิ่งทำให้ฟังซาบซึ้งยิ่งขึ้น เทศน์มหาชาติเป็นงานใหญ่ ไม่มีใครสามารถจัดให้มีขึ้นมาได้โดยลำพังวัดใดจะจัดให้มีเทศน์มหาชาติจะต้อง เริ่มด้วยการระดมกำลังคน ประชุมปรึกษาหารือแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ วางแผนดำเนินงานไว้แต่เนิ่น ๆ เช่น จัดทำความสะอาดบริเวณวัด ประดับตกแต่งธรรมาสน์ ศาลาการเปรียญ เตรียมหาต้นกล้วยต้นอ้อย ตลอดทั้งจัดทำธงทิวประดับประตูกำแพงวัด เป็นต้น จัดได้ว่าเป็นงานใหญ่ในรอบปีเลยทีเดียว การเตรียมงานเทศน์มหาชาติ จึงเป็นประเพณีที่สร้างสรรค์ความสมานสามัคคีของประชาชน ทำให้ประชาชนรู้จักการทำงานเป็นหมู่คณะ รู้จักแบ่งหน้าที่และรับผิดชอบร่วมกัน
คำว่า “ เทศน์มหาชาติ “ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน(๒๕๔๒:๕๔๐:๘๓๘) ให้ความหมาย “เทศน์” ว่าการแสดงธรรมสั่งสอนในทางศาสนา และ “มหาชาติ” น. เรียกเวสสันดรชาดกว่า มหาชาติ มี ๑๓ กัณฑ์. การมีเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชากดเรียกว่า มีเทศน์มหาชาติ
เทศน์มหาชาติเป็นการพรรณาถึง “ เรื่องพระเวสสันดรชาดก “ คำว่า” ชาดก “ นั้นเป็นชื่อเรียกคัมภีร์ประเภทหนึ่งของพุทธศาสนา ที่กล่าวถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนประเภทบุคลาธิษฐาน คือยกตัวละครขึ้นมาเล่าแล้วสอดแทรกคำสอนเข้าไปในการเล่าเรื่องนั้น ๆ ชาดกมีอยู่มากมาย แต่ที่นับว่าสำคัญที่สุดมีอยู่ ๑๐ ชาดก หรือสิบชาติ ตามที่นิยมเรียกกันว่า “ พระเจ้าสิบชาติ “ ในแต่ละชาติพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ กัน เพื่อมุ่งหวังที่จะให้สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณ
การบำเพ็ญบารมีก็คือการกระทำความดี ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวกับผู้อื่นหรือส่วนร่วม แต่ตามความเป็นจริงแล้วการบำเพ็ญบารมีนั้นย่อมจะทำให้เกิดผลดีทั้งแก่ตัวผู้ กระทำและประชาชนโดยส่วนรวมโดยแท้ เช่น “ การบำเพ็ญสัจจะบารมี” ผู้บำเพ็ญยึดมั่นแต่เฉพาะความเป็นจริง ความเที่ยงตรง บุคคลอื่นได้รับผลก็คือ ไม่ถูกหลอกลวง เป็นต้น อนึ่ง การบำเพ็ญบารมีนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น หรือ ๓ ระดับคือระดับธรรมดาชั้นต้น ๆ เรียกว่า “ บารมี ” ระดับสูงคือระดับที่ทำได้ค่อนข้างยากเรียกว่า “ อุปบารมี” และระดับสูงสุดคือระดับที่บุคคลซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ไม่สามารถจะทำได้เรียก ว่า “ ปรมัตถบารมี”
เทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดก ถือเป็นงานบุญพิธีที่สำคัญ เป็นประเพณีที่มีคุณค่าที่ต้องสืบทอดที่นิยมจัดให้มีการมาแต่โบราณ ส่วนมากจัดให้มีในวัด เป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้น ๆ จะตกลงร่วมกันจัด ปกติจัดหลังวันออกพรรษาและพ้นหน้าทอดกฐินไปแล้วจนตลอดฤดูหนาว ส่วนใหญ่ทางภาคกลางนิยมทำกันในวันขึ้น ๘ ค่ำหรือวันแรม ๘ ค่ำ กลางเดือนสิบสอง ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง
ทางภาคเหนือนิยมจัดเทศน์ในเดือนยี่ นอกจากจะเป็นประเพณีลอยกระทงแล้ว ยังมีประเพณี “ตั้งธัมม์หลวง” หมายถึงการฟังพระธรรมเทศนาเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญ เพราะธรรมหลวงที่ใช้เทศน์มักจะเป็นเวสสันดรชาดก อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้มาประสูติแลวตรัสรู้เป็นพระ พุทธเจ้าในชาติต่อมา มีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ คำว่า “ตั้ง” แปลว่าเริ่มต้น การ ตั้งธรรมหลวง ก็อาจแปลว่าการสดับพระธรรมเทศนาจากคัมภีร์ที่จารขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกด้วย ประเพณีนี้ตรงกับงานประเพณีฟังเทศน์มหาชาติของภาคกลาง การตั้งธรรมหลวงนี้ จะจัดขึ้นในเดือนเพ็ญที่เรียกว่าเดือนยี่เพง (ยี่เป็ง) คือวันเพ็ญเดือน ๑๒ จะมีการเตรียมงานมากมาย นับตั้งแต่การเตรียมสถานที่ในการเทศน์และการเตรียมตัวของผู้จะมาฟังเทศน์ ถือเป็นพิธีใหญ่คู่งานทานสลากภัตต์ ดังนั้นจึงมีคตินิยมว่า ในวัดหนึ่งนั้นปีใดที่จัดงานทานสลากภัตต์ก็จะไม่จัดงานตั้งธรรมหลวง และปีใดที่จัดงานตั้งธรรมหลวงก็จะไม่จัดงานทานสลกภัตต์นอกจากเทศน์มหาชาติ หรือเวสสันดรชาดกแล้ว ธรรมหรือคัมภีร์ที่นำมาเทศน์ในงานตั้งธรรมหลวงนี้ อาจเป็นคัมภีร์ขนาดยาวเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งทางวัดและคณะศรัทธาจะช่วยกัน พิจารณา โดยอาจเป็นเรื่องในหมวด ทศชาติชาดกปัญญาสชาดก หรือชาดกนอกนิบาตเรื่องอื่น แต่ที่นิยมกันมากคือเรื่อง “มหาชาติ” หรือเวสสันดรชาดก ซึ่งมีความเชื่อกันว่า หากได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์ จะไปเกิดในแผ่นดินยุคพระศรีอาริยะเมตไตรยในอนาคตเช่นกัน ซึ่งหากเป็นธรรมที่มีใช่เรื่องมหาชาติแล้วก็มักจะฟังกันไม่เกิน ๓ วัน แต่หากเป็นเวสสันดรชาดกหรือมหาชาติแล้วอาจมีการฟังเทศน์ต่อเนื่องกันไปถึง ๗ วัน โดยแบ่งการเทศน์เป็นวันแรกเทศน์ธรรมวัตร วันที่สองเทศน์คาถาพัน ก่อนที่จะเทศน์มหาชาติก็จะเทศน์เรื่องอื่นไปเรื่อย ๆ พอถึงวันสุดท้ายก็จะเทศน์ด้วยคัมภีร์ชื่อ มาลัยต้น มาลัยปลาย และอานิสงส์มหาชาติ รุ่งขึ้นเวลาเช้ามืดก็จะเริ่มเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์ทศพรเรื่อยไป จนครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งมักจะไปเสร็ฐเอาในเวลาทุ่มเศษ แล้วจะมีการเทศนธรรมพุทธาภิเษกปฐมสมโพธิ สวดมนต์เจ็ดตำนานย่อ ธัมมจักกัปปวัดตสูตร และสวดพุทธาภิเษก ปัจจุบันนิยมเทศน์จบภายในวันเดียว
เจ้าของกัณฑ์จะนิมนต์พระที่เทศน์เฉพาะกัณฑ์นั้น ๆ มาเทศน์ เรียก “เทศน์กินกัณฑ์ “
ทำนองที่ใช้เทศน์แบบพื้นเมืองเรียกตามแบบลานนาว่า “ระบำ” การเรียกชื่อกัณฑ์ ทางภาษาเหนือเรียกว่า “ผูก” ด้วยเหตุที่เทศน์มหาชาติเป็นที่นิยม จึง มีนักปราชญ์ฉบับล้านนาแต่งธรรมเป็นจำนวนถึงประมาณ ๑๕๐ ฉบับหรือสำนวน เช่นฉบับวิงวอนน้อย วิงวอนหลวง วิงวอนดอนกลาง หิ่งแก้วมโนวอน ท่าแป้น ริมฅง สร้อยสังกร เป็นต้น ส่วนฉบับที่เป็นภาษาบาลีล้วนเรียกว่า “คาถาพัน”
๑) ตกแต่งบริเวณพิธีให้มีบรรยากาศคล้ายอยู่ในบริเวณป่า ตามท้องเรื่องเวสสันดรชาดก โดยนำเอา ต้นกล้วย ต้นอ้อย และกิ่งไม้มาผูกตามเสา และบริเวณรอบ ๆ ธรรมาสน์ ประดับธงทิว และ ราวัติ ฉัตร ตามสมควร
๒) ตั้งขันสาครใหญ่ หรือจะใช้อ่างใหญ่ที่สมควรก็ได้ใส่น้ำสะอาดเต็ม สำหรับปักเทียนบูชาประจำกัณฑ์ ในระหว่างที่พระเทศน์ น้ำในภาชนะที่ตั้งนี้เสร็จพิธีแล้ว ถือว่าเป็นน้ำพระพุทธมนต์ที่สำคัญ ภาชนะใส่น้ำนี้ตั้งหน้าธรรมาสน์ กลางบริเวณพิธี
๓) เตรียมเทียนเล็ก ๆ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม แล้วนับแยกจำนวนเป็นมัด มัดหนึ่งมีจำนวนเท่าคาถาของกัณฑ์หนึ่ง แล้วทำเครื่องหมายไว้ให้ทราบ ว่ามัดไหนสำหรับบูชาคาถากัณฑ์ใด เมื่อถึงคราวเทศน์กัณฑ์นั้นก็จะเอาเทียนมัดนั้นออกจุดบูชาติดรอบ ๆ ภาชนะน้ำ ต่อกันไปจนจบกัณฑ์ให้หมดมัดพอดี ครบ ๑๓ กัณฑ์ถ้วน จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม เท่าจำนวนคาถา บางแห่งนิยมทำธงเล็ก ๆ ๑,๐๐๐ คัน แบ่งจำนวนเท่าคาถาประจำกัณฑ์เช่นอย่างเทียน แล้วปักธงบูชาระหว่างกัณฑ์บนหยวกกล้วย แต่การใช้ธงไม่เป็นที่นิยม เช่น เทียน การจุดเทียนหรือปักธงบูชากัณฑ์ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพผู้รับกัณฑ์นั้น ๆ การเทศน์เวสสันดร มีวิธีเทศน์เป็นทำนองโดยเฉพาะ จะต้องได้รับการฝึกอบรมศึกษาต่อท่านผู้ทรงคุณวุฒิทางนี้เป็นพิเศษ ส่วนการเทศน์จตุราริยสัจจกถา มีระเบียบพิธีอย่างเทศน์ในงานดังกล่าวแล้วข้างต้น
ประเพณีงานเทศน์มหาชาติ
งานเทศน์มหาชาตินี้ นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว อาจทำในวันขี้น ๘ ค่ำกลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘ ค่ำก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า "งานบุญผะเหวด" ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ ก็มี งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน ๑๐
การเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังตำนานต่อไปนี้
ตำนานเทศน์มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์
การเทศน์มหาชาติ คือการมหากุศลที่เตือนบุคคลให้น้อมรำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลประโยชน์สูงอันไพศาลของมวลมนุษยชาติเป็นสำคัญเป็นเทศกาลที่คงความหมายอย่างแท้จริง
การเทศน์ทุกกัณฑ์จะมีผู้เป็นเจ้าภาพจัดกัณฑ์เทศน์ถวาย เมื่อพระที่ตนรับกัณฑ์เทศน์ขึ้นเทศน์เจ้าภาพจะจุดเทียนบูชาคาถาหว่านข้าวตอกข้าวสาร การเทศน์ในสมัยก่อนพระเจ้าของกัณฑ์จะอ่านจากอักษรธรรม(อักษรลาว) ซึ่งจารลงบนใบลานเป็นแผ่นยาว คำว่า"จาร" มาจากภาษาเขมรแปลว่า การเขียนด้วยเหล็กแหลมบนใบลาน แต่ปัจจุบันจะนิยมพิมพ์ลงบนใบลานเป็นตัวหนังสือไทยปัจจุบัน เป็นเรื่องราวในแต่ละกัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกสำหรับพระรุ่นใหม่
เมื่อจบกัณฑ์จะตีฆ้องเป็นสัญญาณ การเป็นเจ้าของกัณฑ์ในหมู่บ้านในชนบทอาจแบ่งเจ้าภาพเป็นคุ้ม เรื่องราวและประวัติความเป็นมาแต่ละกัณฑ์มีดังนี้
กัณฑ์ที่ ๑ ทศพร เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์ประสาทพรแก่พระนางผุสดี ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร ภาคสวรรค์ พระนางผุสดีเทพอัปสรสิ้นบุญท้าวสักกะเทวราช สวามีทรงทราบจึงพาไปประทับยังสวนนันทวันในเทวโลก พร้อมให้พร ๑๐ ประการ คือให้ได้อยู่ในปราสาทของพระเจ้าสิริราชแห่งนครสีพี ขอให้มีจักษุดำดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ ขอให้มีคิ้วดำสนิท ขอให้พระนามว่าผุสดี ขอให้มีโอรสที่ทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทังหลายและมีใจบุญ ขอให้มีครรภ์ที่ผิดไปจากสตรีสามัญคือแบนราบในเวลาทรงครรภ์ ขอให้มีถันงามอย่ารู้ดำและหย่อนยาน ขอให้มีเกศาดำสนิท ขอให้มีผิวงาม และข้อสุดท้ายขอให้มีอำนาจปลดปล่อยนักโทษได้
กัณฑ์ที่ ๒ หิมพานต์ เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรบริจาคทานช้างปัจจัยนาค ประชาชนสีพีโกรธแค้นจึงขับไล่ให้ไปอยู่เขาวงกต พระนางเทพผุสดีได้จุติลงมาเป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราช เมื่อเจริญชนม์ได้ ๑๖ ชันษา จึงได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งสีวิรัฐนคร ต่อมาได้ประสูติพระโอรสนามว่า "เวสสันดร" ในวันที่ประสูตินั้นได้มีนางช้างฉัททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์จึงนำมาไว้ในโรงช้างต้นคู่บารมี ให้นามว่า "ปัจจัยนาค" เมื่อพระเวสสันดรเจริญชนม์ ๑๖ พรรษา ราชบิดาก็ยกราชสมบัติให้ครอบครองและทรงอภิเษกกับนางมัทรี พระราชบิดาราชวงศ์มัททราช มีพระโอรส ๑ องค์ชื่อ ชาลี ราชธิดาชื่อกัณหาพระองค์ได้สร้างโรงทาน บริจาคทานแก่ผู้เข็ญใจ ต่อมาพระเจ้ากาลิงคะแห่งนครกาลิงครัฐได้ส่งพราหมณ์มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาคพระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาคแก่พระเจ้ากาลิงคะ ชาวกรุงสัญชัย จึงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกพระนคร
กัณฑ์ที่ ๓ ทานกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงแจกมหาสัตสดกทาน คือ การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี ชาลีและกัณหาออกจากพระนคร จึงทูลขอพระราชทานโอกาสบำเพ็ญมหาสัตสดกทาน คือ การให้ทานครั้งยิ่งใหญ่ อันได้แก่ ช้าง ม้า โคนม นารี ทาสี ทาสา สรรพวัตถาภรณ์ต่างๆ รวมทั้งสุราบานอย่างละ ๗๐๐
กัณฑ์ที่ ๔ วนประเวศ เป็นกัณฑ์ที่สี่กษัตริย์เดินดงบ่ายพระพักตร์สู่เขาวงกต เมื่อเดินทางถึงนครเจตราชทั้งสี่กษัตริย์จึงแวะเข้าประทับพักหน้าศาลาพระนคร กษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชจึงทูลเสด็จครองเมือง แต่พระเวสสันดรทรงปฎิเสธ และเมื่อเสด็จถึงเขาวงกตได้พบศาลาอาศรมซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตตามพระบัญชาของท้าวสักกะเทวราช กษัตริย์ทั้งสี่จึงทรงผนวชเป็นฤๅษีพำนักในอาศรมสืบมา
กัณฑ์ที่ ๕ ชูชก เป็นกัณฑ์ที่ชูชกได้นางอมิตดามาเป็นภรรยา และหมายจะได้โอรสและธิดาพระเวสสันดรมาเป็นทาส ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อ ชูชก พำนักในบ้านทุนวิฐะ เที่ยวขอทานตามเมืองต่างๆ เมื่อได้เงินถึง ๑๐๐ กหาปณะ จึงนำไปฝากไว้กับพราหมณ์ผัวเมีย แต่ได้นำเงินไปใช้เป็นการส่วนตัว เมื่อชูชกมาทวงเงินคืนจึงยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูชก นางอมิตดาเมื่อมาอยู่ร่วมกับชูชก ได้ทำหน้าที่ของภรรยาที่ดี ทำให้ชายในหมู่บ้านเปรียบเทียบกับภรรยาตน หญิงในหมู่บ้านจึงเกลียดชังและรุมทำร้ายทุบตี นางอมิตดา ชูชกจึงเดินทางไปทูลขอกัณหาชาลีเพื่อเป็นทาสรับใช้ เมื่อเดินทางมาถึงเขาวงกตก็ถูกขัดขวางจากพรามเจตบุตรผู้รักษาประตูป่า
กัณฑ์ที่ ๖ จุลพน เป็นกัณฑ์ที่พรานเจตบุตรหลงกลชูชก และชี้ทางสู่อาศรมจุตดาบส ชูชกได้ชูกลักพริกขิงแก่พรานเจตบุตรอ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงสญชัย จึงได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤๅษี
ที่ ๗ มหาพน เป็นกัณฑ์ป่าใหญ่ ชูชกหลอกล่ออจุตฤๅษีให้บอกทางสู่อาศรมพระเวสสันดรแล้วก็รอนแรมเดินไพรไปหา เมื่อถึงอาศรมฤๅษี ชูชกได้พบกับอจุตฤๅษี ชูชกใช้คารมหลอกล่อจนอจุตฤๅษีจึงให้ที่พักหนึ่งคืนและบอกเส้นทางไปยังอาศรมพระเวสสันดร
กัณฑ์ที่ ๘ กัณฑ์กุมาร เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงให้ทานสองโอรสแก่เฒ่าชูชก พระนางมัทรีฝันร้ายเหมือนบอกเหตุแห่งการพลัดพราก รุ่งเช้าเมื่อนางมัทรีเข้าป่าหาอาหารแล้ว ชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอสองกุมาร สองกุมารจึงพากันลงไปซ่อนตัวอยู่ที่สระ พระเวสสันดรจึงลงเสด็จติดตามสองกุมาร แล้วจึงมอบให้แก่ชูชก
กัณฑ์ที่ ๙ กัณฑ์มัทรี เป็นกัณฑ์ที่พระนางมัทรีทรงได้ตัดความห่วงหาอาลัยในสายเลือด อนุโมทนาทานโอรสทั้งสองแก่ชูชก พระนางมัทรีเดินเข้าไปหาผลไม้ในป่าลึก จนคล้อยเย็นจึงเดินทางกลับอาศรม แต่มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือนอนขวางทาง จนค่ำเมื่อกลับถึงอาศรมไม่พบโอรส พระเวสสันดรได้กล่าวว่านางนอกใจ จึงออกเที่ยวหาโอรสและกลับมาสิ้นสติต่อเบื้องพระพักตร์ พระองค์ทรงตกพระทัยลืมตนว่าเป็นดาบสจึงทรงเข้าอุ้มพระนางมัทรีและทรงกันแสง เมื่อพระนางมัทรีฟื้นจึงถวายบังคมประทานโทษ พระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้ประทานโอรสแก่ชูชกแล้ว หากชีวิตไม่สิ้นคงจะได้พบ นางจึงได้ทรงอนุโมทนา
กัณฑ์ที่ ๑๐ สักกบรรพ เป็นกัณฑ์ที่พระอินทร์จำแลงกายเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี แล้วถวายคืนพร้อมถวายพระพร ๘ ประการ
ท้าวสักกะเทวราชเสด็จแปลงเป็นพราหมณ์เพื่อทูลขอนางมัทรี พระเวสสันดรจึงพระราชทานให้ พระนางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จ
พระสัมโพธิญาณ เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้าน ท้าวสักกะเทวราชในร่างพราหมณ์จึงฝากนางมัทรีไว้ยังไม่รับไป ตรัสบอกความจริงและถวายคืนพร้อมถวายพระพร๘ประการ
กัณฑ์ที่ ๑๑ มหาราช เป็นกัณฑ์ที่เทพเจ้าจำแลงองค์ทำนุบำรุงขวัญสองกุมารก่อนเสด็จนิวัติถึงมหานครสีพี
เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่ชูชกจะผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ส่วนตนเองปีนขึ้นไปนอนต้นไม้ เหล่าเทพเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมาร จนเดินทางถึงกรุงสีพี พระเจ้ากรุงสีพีเกิดนิมิตฝันตามคำทำนายยังความปีติปราโมทย์ เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้าทอดพระเนตรเห็นชูชกพากุมารน้อยสององค์ ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน ต่อมาชูชกก็ดับชีพตักษัยด้วยเพราะเดโชธาตุไม่ย่อย ชาลีจึงได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดานิวัติพระนคร ในขณะเดียวกันเจ้านครลิงคะได้โปรดคืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสีพี
กัณฑ์ที่ ๑๒ ฉกษัตริย์ เป็นกัณฑ์ที่ทั้งหกกษัตริย์ถึงวิสัญญีภาพสลบลงเมื่อได้พบหน้าณอาศรมดาบสที่เขาวงกตพระเจ้ากรุงสญชัยใช้เวลา ๑ เดือน กับ ๒๓ วันจึงเดินทางถึงเขาวงกต เสียงโห่ร้องของทหารทั้ง ๔ เหล่า พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกมารบนครสีพี จึงชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขา พระนางมัทรีทรงมองเห็นกองทัพพระราชบิดาจึงได้ตรัสทูลพระเวสสันดรและเมื่อหกกษัตริย์ได้พบหน้ากันทรงกันแสงสุดประมาณ รวมทั้งทหารเหล่าทัพ ทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครืนท้าวสักกะเทวราชจึงได้ทรงบันดาลให้ฝนตกประพรมหกกษัตริย์และทวยหาญได้หายเศร้าโศก
กัณฑ์ที่ ๑๓ นครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่หกกษัตริย์นำพยุหโยธาเสด็จนิวัติพระนครพระเวสสันดรขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดาพระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสารภาพผิด พระเวสสันดรจึงทรงลาผนวชพร้อมทั้งพระนางมัทรี และเสด็จ
กลับสู่สีพีนคร เมื่อเสด็จถึงจึงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน พระองค์จะประทานสิ่งใดแก่ประชาชน ท้าวโกสีห์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว ๗ ประการ ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนขนเอาไปตามปรารถนา ที่เหลือให้ขนเข้าพระคลังหลวง ในกาลต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรมบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ